ประวัติและข้อมูลหมู่บ้าน  บ้านหัวช้าง หมู่ที่  4 ตำบลบ้านกู่  อำเภอยางสีสุราช  จังหวัดมหาสารคาม

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติหมู่บ้าน

               ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ประกอบอาชีพหลักคือการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ผลผลิตไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนอพยพย้ายถิ่นฐานจากภูมิลำเนาเดิมไปหาแหล่งทำกินใหม่

        ชุมชนบ้านหัวช้าง หมู่ 4 ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ก่อนที่จะมาตั้งเป็นบ้านหัวช้าง ตามคำบอกเล่าของคุณยายทอง คมวิเศษ อายุ 68 ปี ราษฎรบ้านหัวช้างเล่าว่า คุณแม่ของคุณยายเล่าให้ฟังตอนที่คุณยายเป็นเด็ก คุณตาทวดได้อพยพมาจาก บ้านคำใหญ่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณปี พ.ศ. 2364 โดยมีคุณตาศิลา แก้วจุมพล เป็นผู้นำกลุ่มเดินทางมาด้วยเกวียน แรมรอนมาหลายเดือนจนมาถึงที่ตั้งหมู่บ้านหัวช้างในปัจจุบัน เพราะมีสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่ามากมาย และพื้นที่ทำกินก็อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นส่วนชื่อของหมู่บ้าน เล่าสืบต่อๆกันมาว่า มีนายพรานได้ยิงช้างจนบาดเจ็บ วิ่งมาในดงป่ายาง แล้วมาตายอยู่บริเวณหนองน้ำสร้างดง ต่อมาชาวบ้านไปพบเฉพาะส่วนที่เป็นหัวของช้างก็เลยได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหัวช้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

1.  ที่ตั้งหมู่บ้าน

   

                        ห่างตำบลบ้านกู่ประมาณ   2   กิโลเมตร

                        ห่างอำเภอยางสีสุราชประมาณ   6   กิโลเมตร

                        ห่างจังหวัดมหาสารคามประมาณ   80   กิโลเมตร

อาณาเขต

                        ทิศเหนือ           ติดกับบ้านหนองจิก  ระยะห่าง   2   กิโลเมตร

                        ทิศใต้               ติดกับบ้านโนนจาน  ระยะห่าง   1   กิโลเมตร

                        ทิศตะวันออก     ติดกับบ้านกู่น้อย  ระยะห่าง   2   กิโลเมตร

                        ทิศตะวันตก      ติดกับบ้านโคกม่วง  ระยะห่าง   2   กิโลเมตร

 

ภูมิประเทศ

          มีพื้นที่ป่าไม้ใหญ่ เช่น ไม้ยาง พยุง ประดู่ เต็ง รัง ฯลฯ ด้านทิศใต้และทิศใต้และทิศตะวันตกมีลำห้วยซันไหลผ่าน ดินมีลักษณะร่วนปนทราย อาชีพหลัก คือ การทำนา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นที่หาอาหารของคนในหมู่บ้าน

จำนวนประชากร

        ประชาชนบ้านหัวช้างมีความผูกพันกันแบบเครือญาติ เป็นสังคมที่เรียบง่าย ชอบอยู่แบบสบายไม่กระตือลือล้นเท่าที่ควร รู้จักกันทั้งหมู่บ้าน โดยมีข้อมูลประกอบ ดังนี้

                1. มีจำนวนครัวเรือน      95     ครอบครัว

                2. มีประชากรทั้งหมด      662   คน    เป็นชาย   310   คน และเป็นหญิง  352 คน

 

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page